การแข่งขันเรือยาวประเพณีลุ่มน้ำป่าสัก
อำเภอเสาไห้ จัดให้มีการแข่งขันเป็นประเพณี ณ บริเวณท่าน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ทุกปี โดยในวันเสาร์-อาทิตย์ สุดท้ายของเดือนกันยายน โดยเชิญเรือยาวจากจังหวัดต่างๆ แบ่งเป็นประเภทของเรือเป็น 4 ประเภท เข้าแข่งขันหาผู้ชนะเลิศ ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของท้องถิ่นอย่างหนึ่ง |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดสระบุรี |
|
การแข่งเรือกอและ (หน้าพระที่นั่ง)
เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน โดยจัดให้มีการแข่งเรือกอและขึ้นในลำน้ำบางนรา บริเวณตรงข้ามกับศาลาประชาคม การแข่งเรือนี้จัดเป็นเทศกาลประจำปีในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์คือประมาณเดือนกันยายน |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดนราธิวาส |
|
วันลองกอง
เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ (หน้าพระที่นั่ง) โดยจัดขึ้นที่บริเวณศาลาประชาคมจังหวัดนราธิวาส เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการปลูกลองกองอันเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะลองกองตันหยงมัส กิจกรรมสำคัญในงานรวมไปถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการปลูก การดูแลรักษา การออกร้านจำหน่าย และการประกวดผลลองกอง |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดนราธิวาส |
|
งานเสื่อกระจูด
เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ (หน้าพระที่นั่ง) โดยจัดขึ้นที่บริเวณศาลาประชาคมจังหวัดนราธิวาสเช่นกัน เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์จากกระจูดอันเป็นงานหนึ่งของโครงการศิลปาชีพในจังหวัดนราธิวาส เช่น จากบ้านโคกเคียน และบ้านพิกุลทอง เป็นต้น กิจกรรมในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบ ซึ่งนำมาจากต้นกระจูดอันเป็นวัชพืชในเขตป่าพรุ หรือที่ลุ่มน้ำขังของจัวหวัดนราธิวาส ไปจนถึงการนำไปสานเป็นเสื่อลวดลายสวยงามต่างๆ และดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่งดงามแปลกตา อาทิ หมวก กระเป๋าถือ ที่ใส่จดหมาย ฝาชี โป๊ะไฟ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตสานผลิตภัณฑ์จากกระจูด การจัดประกวดและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูดอีกด้วย |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดนราธิวาส |
|
งานเทศกาลอาหารและผลไม้นครปฐม
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน ของทุกปี ณ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ผลไม้ที่นิยมปลูกในจังหวัดนครปฐม ได้แก่ ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม ฝรั่ง กล้วย เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ได้แก่ กุนเชียง หมูแผ่น หมูหยอง ฯลฯ ระหว่างการจัดงานมีการประกวด โต๊ะจีน และผลไม้ต่าง ๆ |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดนครปฐม |
|
งานเทศกาลทิ้งกระจาด
กำหนดจัดงานหลังสารทจีนไป 3 วัน เริ่มวันที่ 18 เดือน 7 ของจีน ตรงกับเดือน 9 ของไทย ราวเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี สถานที่จัดงานอยู่ในเขตเทศบาล ตั้งแต่สมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง จนถึงด้านหลังเทศบาลเมืองฯ |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดสุพรรณบุรี |
|
ประเพณีกินข้าวห่อ หรืออั้งหมี่ทอง
เป็นพิธีสู่ขวัญมีขึ้นในเดือนเก้า ชาวกะเหรี่ยงถือว่าเดือนเก้าเป็นเดือนที่ไม่ดี บรรดาวิญญาณชั่วร้ายจะออกหากิน และก็จะกิน ขวัญ ทำให้เจ็บป่วย และอาจถสึงแก่ชีวิต นิยมจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ แต่ถ้าบางบ้านไม่สะดวกก็เปลี่ยนเป็นวันอื่นก็ได้ในเดือนเก้า ในพิธีมีการ ต้มข้าวห่อ เลี้ยงกัน ข้าวห่อ คือข้าวเหนียวห่อเป็นกรวย แล้วนำมาต้มให้สุกคล้ายขนมจ้างสมัยก่อนเวลารับประทานใช้จิ้มน้ำผึ้ง ปัจจุบันใช้จิ้มมะพร้าวขูด ในวันต้มข้าวห่อนี้จะมีพิธีสู่ขวัญด้วย เริ่มด้วยการเคาะไม้เป่าแคน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน จากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวจะใช้เชือกแดงผูกข้อมือให้ลูกหลาน เพื่อความเป็นสิริมงคล |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดราชบุรี |
|
งานฮารีรายอ
หรืองานฉลองการเลิกถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม (ในช่วงเดือน 9 ถึงวันที่ 1 เดือน 10 เป็นเวลา 30 วัน) หลังจากการเลิกถือศีลอดแล้ว ชาวไทยมุสลิมในปัตตานีจะไปชุมนุมกันที่มัสยิดกลาง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามโดยพร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้นจึงมีงานมหรสพฉลองเป็นที่ครื้นเครง |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดปัตตานี |
|
ประเพณีแห่นก
จัดขึ้นเป็นเกียรติในงานเทศกาลงานเฉลิมฉลอง หรืองานมงคลทั่วไป เช่น พิธีสุหนัดในศาสนาอิสลาม หรือใช้เป็นขบวนแห่ต้อนรับอาคันตุกะผู้เป็นแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ นอกจากนี้ยังมีประเพณีงานสารทเดือน 10 ระหว่างวันแรม 14-15 ค่ำ มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กลางคืนมีมหรสพของปักษ์ใต้ฉลอง เช่น ลิเกฮูลู ซึ่งคล้ายกับลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง โนรา หนังตะลุง รองเง็ง (คล้ายรำวง นิยมเล่นกันในราชสำนักชวามาก่อน จึงแพร่หลายเข้ามาทางปักษ์ใต้) มะโย่ง (ละครไทยมุสลิมภาคใต้) ซีละ (กีฬาอย่างหนึ่งของชาวมลายู ซึ่งแสดงถึงศิลปะการต่อสู้ที่สง่างามและกล้าหาญ) |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดปัตตานี |
|
งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง
เป็นการจัดงานเฉลิมฉลองวันสารทไทยในวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของเดือนกันยายนทุกปี และมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่กล้วยไข่ซึ่งเป็นผลไม้พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ในงานนี้จะมีการประกวดและจำหน่ายกล้วยไข่ การแข่งขันกวนกระยาสารท งานนิทรรศการทางการเกษตร การออกร้านจำหน่ายสินค้าและการแสดงมหรสพต่าง ๆ |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดกำแพงเพชร |
|
เทศกาลกินเจ
กำหนดจัดในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ระหว่างถือศีลกินผัก ชาวบ้านจะไปรับอาหารจากศาลเจ้า มีพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น ลุยไฟ ไต่บันไดมีด ฯลฯ มีการแห่เจ้าไปตามถนนต่างๆ โดยชาวบ้านสองฝั่งถนนจะจุด ประทัดเสียงอึกทึกไปตลอดสาย ประเพณีกินเจนี้ถือว่าเป็นการอุทิศความดีให้กับพระและเทวดาฟ้าดินเพื่อให้พระคุ้มครองชาวภูเก็ตและเกาะภูเก็ตตลอดไป |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดภูเก็ต |
|
งานเทศกาลหมูย่างจังหวัดตรัง
เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง โดยจะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนกันยายนของทุกปี ภายในงานจะประกอบไปด้วยหมูย่างสูตรพิเศษของเมืองตรังจากร้านต่างๆ ในจังหวัด มาร่วมออกร้าน ณ บริเวณสี่แยกธรรมรินทร์ บนถนนสถานีและมีการจัดขบวนแห่ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดตรัง |
|
งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสารทไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จะแห่พระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไปรอบเมืองจนถึงบริเวณหน้าวัดไตรภูมิ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของชาวเพชรบูรณ์ จะเป็นผู้อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำทั้ง 4 ทิศ ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด พิธีอุ้มพระดำน้ำจะทำในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดเพชรบูรณ์ |
|
งานแข่งเรือประเพณี
จังหวัดพิจิตรมีการแข่งเรือประเพณีมาเป็นเวลานานแล้วเพราะมีธรรมเนียมว่า วัดใดถ้าจัดงานปิดทองไหว้พระแล้วก็จะต้องจัดงานแข่งเรือควบคู่กันไปด้วย มักจัดกันในฤดูน้ำหลาก ประมาณวันเสาร์-อาทิตย์ต้นเดือนกันยายนของทุกปี ในงานจะมีการแข่งเรือประเพณีและการประกวดขบวนแห่เรือต่างๆ ในแม่น้ำน่าน หน้าวัดท่าหลวง มีการประกวดสาวงามและการประดับประดาริ้วขบวนต่างๆ สวยงามน่าชมมาก |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดพิจิตร |
|
ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ
เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มากของชาวภาคใต้และนครศรีธรรมราช งานประเพณีนี้เริ่มในวันแรม 9 ค่ำ ถึงขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ของทุกๆ ปี ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบุพการีซึ่งล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าผู้ที่มีบาปมากจะถูกปล่อยตัวจากนรกเพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ ในวันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ และให้กลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิมก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ดังนั้นจึงมีการทำบุญตามวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เริ่มในวันแรม 13 ค่ำ ซึ่งเป็น วันจ่าย หมายถึง วันออกจับจ่ายซื้อของที่จำเป็นในการจัดตกแต่ง หมฺรับ (สำรับ) ในวันแรม 14 ค่ำ คือวัน ยกหมฺรับ หมายถึงการยก หมฺรับ ไปวัด หรือวันรับตายายและวันที่ผู้ล่วงลับจะต้องกลับลงไปอยู่ในนรกตามเดิม คือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า วันบังสกุล หรือวันส่งตายาย สำหรับหมฺรับในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาจากการจัดหมฺรับแบบดั้งเดิม เป็นการจัดตกแต่งให้สวยงามมากขึ้น โดยมีอุปกรณ์ประกอบครบถ้วนตามแบบโบราณและจัดให้มีการแข่งขันการจัดหมฺรับขึ้นอีกด้วย โดยจะมีขบวนพิธีแห่หมฺรับรับแห่แหนกันอย่างสวยงามตลอดแนวถนนราชดำเนิน ในวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดนครศรีธรรมราช |
|
กีฬาชนวัว
ถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้อย่างหนึ่ง และเป็นกีฬาท้องถิ่นอันสืบทอดมาเป็นเวลานานของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีวิธีการอย่างละเอียดและมีขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกโคตัวผู้พันธุ์ดี ลักษณะดี สายเลือดดี เพื่อเลี้ยงและฝึกฝนอย่างใกล้ชิด การชนโค จะจัดให้มีขึ้นทุกสัปดาห์โดยหมุนเวียนกันไปตามอำเภอต่างๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดมากนัก ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอปากพนัง อำเภอฉวาง และอำเภอทุ่งสง |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดนครศรีธรรมราช |
|
งานวันลางสาด
ลางสาดเป็นผลไม้ที่มีชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรชาวอำเภอลับแลมาเป็นเวลานาน กลุ่มเกษตรอำเภอลับแล เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ และสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ (โทร. 055-411769) จึงได้ร่วมกันจัดงานวัดลางสาดขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรปรับปรุงพันธุ์ลางสาดของตนให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ กำหนดงาน ประมาณวันเสาร์ - อาทิตย์ หรือปลายเดือนกันยายนของทุกปี จัดขึ้น ณ บริเวณสนามกีฬาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจัดให้มีนิทรรศการทางวิชาการเกี่ยวกับลางสาด การประกวดลางสาด ธิดาลางสาด การประกวดรถผลไม้ การออกร้านสินค้าพื้นเมือง ตลอดจนการแสดงและมหรสพพื้นเมืองของชาวลับแลอีกด้วย |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดอุตรดิตถ์ |
|
การแข่งเรือยาวประเพณี
การแข่งขันเรือยาวจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ริมเขื่อนหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งมีเรือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดต่างๆ ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นับเป็นงานประเพณีที่ตื่นเต้นสนุกสนานและเร้าใจ ประกอบการความสวยงามของเรือแต่ละลำที่ตกแต่งประชันกันอย่างเต็มที่ |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดสิงห์บุรี |
|
งานส้มโอชัยนาท
ชัยนาทเป็นจังหวัดที่สามารถปลูกส้มโอทุกพันธุ์ได้ผลดี ส้มโอสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยนาทคือ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งมีลักษณะพิเศษดังนี้คือ ผลกลม ผิวเรียบ เปลือกบาง รสหวานกรอบอมเปรี้ยวนิดๆ ไม่มีรสขม ปัจจุบันจังหวัดเร่วส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนปลูกกันเป็นอาชีพและจัดงานส้มโอชัยนาทเป็นประจำทุกปี ช่วงระหว่างปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือการประกวดส้มโอ การจัดนิทรรศการให้ความรู้จากหน่วยงานทางราชการ การออกร้านจำหน่ายกิ่งพันธุ์และผลส้มโอของเกษตรกรชาวชัยนาท |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดชัยนาท |
|
งานแข่งเรือยาวประเพณี
จัดช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายนของทุกปี ที่แม่น้ำบางปะกง หน้าที่ว่าการอำเภอเมือง มีทั้งประเภทเรือยาว และเรือพื้นบ้าน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีขบวนเรือพาเหรดอัญเชิญถ้วยพระราชทานอันสวยงาม |
สถานที่จัดงาน
จังหวัดปราจีนบุรี |
|
|